ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีทฤษฎีและวิธีการที่เป็นสากลและข้อปฏิบัติที่ยึดถือทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีทฤษฎีและวิธีการที่เป็นสากล
พระพุทธศาสนามีหลักการและทฤษฎีที่เป็นสากล คือ หลักอริยสัจ 4 หมายถึง หลักความจริงอันประเสริฐของชีวิตมี 4 ประการคือ
1. ทุกข์ (ความไม่สบายกายและใจ) สอนว่า “ ชีวิต และโลก นี้มีปัญหาอะไรบ้าง ”
2. สมุทัย (สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) สอนว่า “ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุ มิได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ ”
3. นิโรธ (วิธีการดับทุกข์) สอนว่า “ มนุษย์มีศักยภาพในตัวเอง ที่จะสามารถแก้ปัญหาได้เอง ”
4. มรรค (แนวทางการปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์) สอนว่า “การแก้ปัญหาต้องใช้ปัญญา” (ความรู้และความเพียรพยายาม)
อริยสัจ 4 เป็นหลักความจริงที่มีหลักการเป็นที่ยอมรับสอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นหลักสากลยอมรับทั่วไป
ข้อปฏิบัติที่ยึดถือทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่เป็นสภาวะกลาง คือ การปฏิบัติที่ยึดทางสายกลางไม่ตึงหรือหย่อนต่อการปฏิบัติจนเกินไปเรียกว่า “ มัชฌิมาปฏิปทา ” ซึ่งมีความหมายว่า การปฏิบัติที่พอดีมีความสมเหตุสมผล ไม่ทำอะไรที่สุดโต่ง เช่น เคร่งครัดสุดโต่ง หรือหย่อนสุดโต่ง การพิจารณาปฏิบัติให้พอดีจากเหตุผลในสภาวะต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามหลักศีลธรรม กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และการพัฒนาชีวิตที่ดีงาม หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบและกำหนดไว้เป็นสภาวะกลาง ๆ เช่น มรรค 8 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
มรรค
1. สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ แปลว่า ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา แปลว่า การเจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ แปลว่า การกระทำชอบ
5. สัมมาอาชีวะ แปลว่า การเลี้ยงชีพชอบ 6. สัมวายามะ แปลว่า การเพียรชอบ
7. สัมมาสติ แปลว่า ความระลึกชอบ 8. สัมมาสมาธิ แปลว่า การตั้งมั่นชอบ
การปฏิบัติตามมรรค 8 ถือว่าได้ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และสามารถจำแนกมรรค 8 ตามหลักไตรสิกขา ได้ดังนี้
ไตรสิกขา
1. ศีล สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ 2. สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
3. ปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
ไตรสิกขา แปลว่า หลักการศึกษา 3 ประการ หรือข้อควรศึกษา 3 อย่าง เพื่อฝึกอบรมกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย และเจริญปัญญาให้งดงาม ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน ดังนี้
1. สีลสิกขา หรือศีล คือ การเรียนรู้เบื้องต้น การฝึกอบรมความประพฤติ ทางกาย วาจา ให้มีระเบียบและวินัย กล่าวคือ เมื่อมีศีลจะทำให้การกระทำ การพูด และการประกอบอาชีพเป็นไปอย่างสุจริตและชอบธรรม
2. จิตตสิกขา หรือสมาธิ คือ การฝึกอบรมจิตให้เกิดสมาธิ มีความสงบ สุขุม หนักแน่น เมื่อจิตมีสมาธิจะทำให้มีสติ มีความสงบ และจะก่อให้เกิดความเพียรพยายามที่ชอบธรรม
3. ปัญญาสิกขา หรือปัญญา คือ การฝึกอบรมให้เกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาแล้ว จะทำให้มีความเห็นชอบและดำริชอบ
การปฏิบัติตนตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง อันเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบหลักธรรมนี้ เพื่อหาทางออกในการใช้ชีวิตให้สุขสงบ และพัฒนาชีวิตที่ดีงามแก่พุทธบริษัท ซึ่งถือได้ว่าการปฏิบัติตนด้วยความพอดี บนหลักการของเหตุผล จะช่วยให้การดำเนินชีวิตในสังคมเป็นไปด้วยความสงบสุข ปราศจากปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติของตนเอง
พระพุทธศาสนาเน้นการพัฒนาศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง
พระพุทธศาสนาส่งเสริมทั้งปัญญาที่หมายถึง ความรู้ทั่ว รู้ชัด ได้แก่ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้ เหตุผล และศรัทธา คือ ความเชื่อ แต่ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาเน้นให้เชื่ออย่างมีปัญญา คือ เชื่อได้แต่ให้เชื่ออย่างมีเหตุมีผล และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งอาจจำแนกได้คือ
1. ศรัทธาเป็นเพียงขั้นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญา และกล่าวไว้ว่าเป็นอันดับแรกเพราะปัญญาทำให้ศรัทธาเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามหลัก ไม่ผิดพลาดกลายเป็นความงมงาย
2. ศรัทธาตามหลักของพระพุทธศาสนา ต้องเป็นความเชื่อที่ซาบซึ้งนับเนื่องด้วยเหตุผล คือมีปัญญารองรับและเป็นทางสืบต่อแก่ปัญญาได้ มิใช่เพียงความรู้สึกมอบตัว มอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิงโดยไม่ต้องถามหาเหตุผล
3. คุณประโยชน์ของศรัทธาต้องเป็นไปเพื่อทำให้เกิดวิริยะ คือความเพียรพยายามที่จะปฏิบัติทดลองสิ่งที่เชื่อด้วยศรัทธานั้น ให้เห็นผลประจักษ์จริงแก่ตน ซึ่งนำไปสู่กระบวนการสร้างปัญญาในที่สุด
4. ศรัทธาต้องเป็นไปเพื่อปัญญา ดังนั้นศรัทธาที่ถูกต้องจึงต้องส่งเสริม ความคิดวิจัยวิจารณ์จึงจะเกิดความก้าวหน้าแก่ปัญญาตามจุดหมาย ในขณะเดียวกันแม้ตัวศรัทธาเองจะมั่นคงแน่นแฟ้นได้ก็เพราะได้คิดเห็นเหตุผลจนมั่นใจ หมดความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ โดยนัยนี้ ศรัทธาตามหลักพระพุทธศาสนาจึงส่งเสริมการคิดหาเหตุผลเพื่อควบคุมศรัทธาให้อยู่ในความหมายที่ถูกต้อง
ดังนั้นธรรมหมวดใดก็ตามในพุทธธรรม ถ้ามีศรัทธาเป็นส่วนประกอบข้อหนึ่งแล้ว จะต้องมีปัญญาอีกข้อหนึ่งด้วยเสมอไป และตามปกติศรัทธาย่อมมาเป็นข้อหนึ่ง พร้อมกับที่ปัญญาเป็นข้อสุดท้ายแต่ในกรณีที่กล่าวถึงปัญญาไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความศรัทธาไว้ด้วย ดังนั้นปัญญาจึงสำคัญกว่าศรัทธา
หลักศรัทธา (ความเชื่อ) ตามแนวพระพุทธศาสนา
1. กัมมศรัทธา เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อว่าทุกคนมีกรรม บาปและบุญมีจริง 2. วิบากศรัทธา เชื่อเรื่องวิบาก หรือผลของกรรม เชื่อว่าคนทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
3. กัมมสกตาศรัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตนเอง เชื่อว่าทุกคนเป็นเจ้าของจะต้องรับผิดชอบผลกรรมของตนเองไม่ช้าก็เร็ว
4. ตถาคตโพธิศรัทธา เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นการตรัสรู้สัจธรรมจริง หลักความเชื่อทั้ง 4 ประการนี้ เป็นความเชื่อพื้นฐานที่ชาวพุทธควรเชื่อไว้ เพื่อรับรองว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง เพราะถ้าไม่เชื่อก็จะไม่ยอมรับการนับถือ หรือการปฏิบัติธรรมก็ไม่มี
หลักการพัฒนาปัญญาตามแนวพระพุทธศาสนา
ปัญญา ได้แก่ ความฉลาดรอบรู้ในการศึกษาเล่าเรียน การคิดตริตรอง และอบรม ปฏิบัติอย่างมีเหตุผล ซึ่งการพัฒนาปัญญาที่ถูกต้องเป็นไปตามลำดับ ดังนี้
1. สุตมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง และการเล่าเรียน โดยการฟังคือ การรับสารหรือ สาระทั้งปวงจากสื่อต่าง ๆ มิใช่แต่การฟังทางหูอย่างเดียวต้องมีสมาธิในการฟัง
2. จินตมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากการคิดหาเหตุผล เพราะเมื่อฟังมากเรียนมากต้องนำมาคิด รู้จักไตร่ตรองให้รอบคอบ พิจารณาด้วยปัญญาให้เป็นผลดี ผลเสีย ที่เรียกว่า “ โยนิโสมนสิการ ” คือ การพิจารณาในใจโดยแยบคาย รอบคอบ
3. ภาวนามยปัญญา ได้แก่ ปัญญา ที่เกิดจากการอบรม หรือการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นการนำความคิดมาฝึกอบรมให้เข้าใจ เห็นผลจากการปฏิบัติจริง หรือเรียกว่า ปัญญาย่อมเกิดจากการปฏิบัติ
หลักสังคมชมพูทวีป
ชมพูทวีปในสมัยพระพุทธกาลคือพื้นที่ประเทศอินเดียและเนปาลในปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันไม่ปรากฏการใช้ชื่อนี้แล้ว จะพบได้ก็เมื่อมีการพูดถึงประวัติของพระพุทธเจ้า และสังคมอินเดียในสมัยพุทธกาลสังคมของชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล ได้มีการแบ่งชั้นวรรณะอย่างชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น 4 วรรณะ คือ
1. วรรณะกษัตริย์ ได้แก่ ชนชั้นสูง เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ พวกทหาร นักรบ นักปกครอง
2. วรรณะพราหมณ์ ได้แก่ นักบวช เจ้าลัทธิที่มีหน้าที่สั่งสอนวิทยาการต่าง ๆ และทำพิธีกรรมทางศาสนา
3. วรรณะแพศย์ ได้แก่ พวกพ่อค้า เศรษฐี คหบดี เป็นชนชั้นกลาง มีหน้าที่ทำการค้าขาย
4. วรรณะศูทร ได้แก่ กรรมกร ลูกจ้าง เป็นคนชั้นต่ำ ทำงานหนัก
นอกจากนี้สังคมของอินเดีย ยังมีวรรณะพิเศษอีกหนึ่งวรรณะที่เรียกว่า “จัณฑาล” คือ พวกที่เกิดจากบิดามารดามีวรรณะต่างกัน เช่น มารดาอยู่ในวรรณะสูง บิดาอยู่ในวรรณะต่ำ ลูกจึงกลายเป็นพวกจัณฑาล สังคมไม่ยอมรับ ได้รับการดูถูกเหยียดหยามมากกว่าพวกศูทรสังคมสมัยพุทธกาล การถือเรื่องชั้นวรรณะรุนแรงมาก ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม มีความแตกแยกในสังคม
เพราะอาชีพบางอาชีพจะห้ามไม่ให้พวกวรรณะต่ำทำ แม้แต่คัมภีร์พระเวทของพราหมณ์ก็ห้ามมิให้พวกศูทรเรียน เป็นต้น
ศาสนาพราหมณ์เปรียบเทียบวรรณะ 4 พวก ไว้ว่า กษัตริย์เกิดจากแขนของพระพรหมพราหมณ์เกิดจากปากของพระพรหม แพศย์เกิดจากขาของพระพรหม และศูทรเกิดจากเท้าของพระพรหม
คติความเชื่อทางศาสนาในสมัยพุทธกาล
ความเชื่อในสมัยพุทธกาลมากมาย ตามหลักฐานทางคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่ามี 62 ลัทธิและในศาสนาเชนกล่าวว่ามีลัทธิมากถึง 336 ลัทธิ นับว่าในสังคมอินเดียเป็นบ่อเกิดของลัทธิความเชื่ออย่างแท้จริง และมีเสรีภาพในการเผยแผ่อย่างอิสระ
การแบ่งกลุ่มความเชื่อทางศาสนาอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ความเชื่อในเรื่อง จิตวิญญาณ ได้แก่ ความเชื่อในเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น เป็นความเชื่อในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงธรรมชาติว่ามีวิญญาณสิงสถิตอยู่ เป็นวิญญาณของเทพเจ้า ซึ่งทั้งชนพื้นเมืองและพวกอารยชนต่าง ๆ ก็ยอมรับนับถือในเรื่องวิญญาณที่สถิตอยู่กับต้นไม้
2. ความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ ความเชื่อในคัมภีร์พระเวทที่มีอิทธิพลมากในสมัยนั้นซึ่งมีเทพเจ้า คือ พระพรหม เป็นผู้สร้างโลก สร้างจักรวาล สร้างชีวิตมนุษย์ สร้างสัตว์ และมีการบวงสรวงต่อเทพเจ้า โดยใช้ชีวิตสัตว์บูชายัญ เพื่อขอพรให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ
3. ความเชื่อในลัทธิอิสระต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มที่เป็นนักบวชที่มีความต้องการค้นหาความจริงอย่างอิสระไม่ยอมรับความเชื่อเดิมในศาสนาพราหมณ์ จึงตั้งสำนักของตนเองขึ้นสอนผู้คนที่มีความเชื่อเหมือนตนเอง กลุ่มลัทธิอิสระมี 6 คน คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคศาละ อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถาฏบุตร ครูทั้ง 6 คนนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ในสมัยนั้นเพราะมีอายุมาก และมีลูกศิษย์มากมาย บางลัทธิ เช่น ครูสัญชัย เคยเป็นอาจารย์ของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะก่อนที่ท่านทั้งสองจะมาบวชในพระพุทธศาสนาและอีกท่านคือ ท่านนิคครนถนาฏบุตร หรือ มหาวีระศาสดาของศาสนาเชน ลัทธินี้มีทัศนะที่คล้ายคลึงกับพระพุทธศาสนา เช่น ในเรื่องสาเหตุแห่งทุกข์และวินัย 5 ซึ่งคล้ายกับศีล 5 ข้อของพระพุทธศาสนา
สรุปและวิเคราะห์พุทธประวัติ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาของพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงค้นหาหนทางดับทุกข์ด้วยพระองค์เอง โดยการบำเพ็ญเพียรทางจิตจนตรัสรู้อริยสัจ 4 (ความจริงอันประเสริฐ) ซึ่งเป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ และนำมาเผยแพร่สั่งสอนแก่พุทธสาวก ในที่นี้จะได้กล่าวถึงเรื่องการตรัสรู้ และการก่อตั้งพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ
การตรัสรู้
เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเสด็จออกบรรพชาแล้ว ทรงแสวงหาสัจธรรม โดยทรงเริ่มศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส และอุททกดาบส จนรู้แจ้งวิชาทั้งหมดของอาจารย์ แต่พระองค์ก็ทรงรู้ว่าไม่ใช่วิธีดับทุกข์ พระองค์จึงทรงทดลองบำเพ็ญทุกรกิริยาคือ การทรมานร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ทรงกัดฟันให้แน่นกลั้นลมหายใจเข้าออก ทรงอดพระกระยาหาร เป็นต้น
หลังจากทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาถึงที่สุดแล้ว ก็ทรงรู้ว่ายังไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์เช่นกัน จึงทรงเลิก และหันมาบำเพ็ญเพียรทางจิต โดยทรงประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ และทรงอธิษฐานในพระทัยว่า หากยังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จักไม่เสด็จลุกขึ้นเป็นเด็ดขาด พระมังสะ และพระโลหิตจะแห้งเหือดไปเหลือแต่ตจะ (หนัง) พระนหารุ(เอ็น) และพระอัฐิ(กระดูก) ก็ตาม
ก่อนที่จะตรัสรู้พระองค์ได้ทรงผจญมาร คือ กิเลสมาร เสนามาร ความชั่วอื่น ๆ มาคอยขัดขวางแต่พระองค์ก็ทรงเอาชนะได้ โดยทรงนึกถึงบารมี 10 จนได้บรรลุ บุพเพนิวาสนุสสติญาณ คือ การระลึกชาติได้ ในยามแรก บรรลุจุตูปปาตญาณ คือ การรู้การตาย และการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ในยามที่สอง และในยามที่สาม ได้บรรลุอาสวักขยญาณ คือ การหยั่งรู้ความสิ้นอาสวะหรือกิเลส คือ การตรัสรู้ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ (ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ) สมุทัย (เหตุทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรค (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)
การก่อตั้งพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้พิจารณาธรรมที่ได้ตรัสรู้ว่าเป็นเรื่องลึกซึ้ง ยากที่ผู้อื่นจะเข้าใจได้ง่าย แต่ก็ทรงพิจารณาเปรียบเทียบสัตว์โลกได้กับดอกบัว 4 เหล่า คือ 1. บัวพ้นน้ำ (อุคฆฎิตัญญู) 2. บัวเสมอน้ำ (วิปจิตัญญู) 3. บัวใต้น้ำ (เนยยะ) 4. บัวใต้โคลนตม (ปทปรมะ) คือ บุคคลมีสติปัญญาต่างกัน ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อสัตว์โลก จึงทรงตั้งพระทัยที่จะแสดงธรรมสั่งสอนสัตว์โลก
พระสาวกกลุ่มแรกที่พระองค์ได้แสดงธรรมโปรด คือ ปัญจวัคคีย์ (ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์มาก่อน) โดยทรงแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรกคือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ทำให้อัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม คือบรรลุโสดาบัน อีก 4 ท่านได้เกิดศรัทธาแรงกล้าและพร้อมใจกันอุปสมบทเป็นพระภิกษุกลุ่มแรกของพระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นการก่อตั้งพระพุทธศาสนา อย่างเป็นทางการและภายหลังปัญจวัคคีย์ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดและเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อมาทำให้พุทธศาสนาเจริญอย่างรวดเร็วมีพระสาวกเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ